เกษตรกรรมธรรมชาติ
กับวิธีการปลูกข้าวที่ไร่พอใจ |
|
เรื่องและเรียบเรียงโดย ตุ๊แสนฤทธิ์ |
|
|
|
|
เราอาจจะศึกษาแยกแยะพืชพันธุ์ ต้นไม้ ใบหญ้าจนละเอียดละออ แต่เราก็ไม่อาจที่จะสร้างได้แม้ใบหญ้าสักหนึ่งใบ ต้นข้าวทุกต้นที่ไร่พอใจ จึงถูกปลูกขึ้นมาตามธรรมชาติ เราปรุงดินด้วยอินทรีย์วัตถุและจุลินทรีย์ ที่เหลือ ธรรมชาติเป็นผู้สรรค์สร้าง เมล็ดข้าวที่ปลูกได้จึงมากด้วยคุณค่าอาหาร และยารักษา ซึ่งเป็นของขวัญจากธรรมชาติที่มนุษย์เองไม่สามารถผลิตขึ้นมาได้เอง |
|
|
|
|
หลักของการทำเกษตรกรรมธรรมชาติ จะเน้นไปที่การเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน สร้างดินให้มีชีวิต โดยอาศัยเหล่ากองทัพจุลินทรีย์ อาหารพืชที่ได้คืออินทรีย์วัตถุ อาจจะเป็น มูลสัตว์ วัชพืช ใบไม้ ฟางข้าว ฯลฯ ซึ่งจะถูกย่อยสลายโดยจุลินทรีย์ เมื่อเวลาผ่านไปดินจะกลับมาอุดมสมบูรณ์ ด้วยธาตุอาหารสำหรับพืช ทำให้พืชที่ปลูกแข็งแรงต้านทานโรค มีสารอาหารต่างๆ ครบ ตามที่ธรรมชาติจะกำหนดให้มี ได้พืชอาหารที่มีชีวิต ส่งต่อให้สำหรับอีกชีวิตให้อยู่อย่างยืนยาว |
|
|
|
|
|
จุลินทรีย์สิ่งมีชีวิต หัวใจสำคัญของดินดีมีความอุดมสมบูรณ์ |
ดินดีคือดินที่มีซากพืชซากสัตว์ทับถมกันอยู่ เป็นข้อความจริงเพียงบางส่วน เพราะซากพืชซากสัตว์นั้นพืชไม่สามารถเปลี่ยนเป็นอาหารได้ มันยังต้องอาศัยสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ในดินที่เรียกว่าจุลินทรีย์มาย่อยสลาย ดินที่ดีจึงเป็นดินที่มีชีวิตและซากพืชซากสัตว์ ชีวิตเล็กๆ ของจุลินทรีย์จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ต่อการเพาะปลูกพืชตามธรรมชาติ และจุลินทรีย์ก็คือสัตว์มีชีวิตเล็กๆ ที่มีการเกิดตายๆ อยู่ตลอดเวลาตามวงจรชีวิตที่สั้น เกิดเป็นซากสัตว์ทับถมอยู่ในดิน หากเราสามารถเพิ่มจำนวนจุลินทรีย์ที่แข็งแรงลงไปในดินได้ ความอุดมสมบูรณ์ของดินจะเกิดขึ้นเอง เมื่อนำไปปลูกพืชก็จะเจริญงอกงาม
|
|
|
|
|
|
ปกติในดินจะมีจุลินทีย์อาศัยอยู่แล้วตามธรรมชาติ มากบ้างน้อยบ้าง ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมของแปลงเกษตรกรรมนั้นๆ จุลินทรีย์นี้เราเรียกว่าจุลินทรีย์ท้องถิ่น ซึ่งบางครั้งอาจจะมีสุขภาพไม่แข็งแรง ย่อยสลายซากพืชซากสัตว์ได้ไม่เก่ง จึงจำเป็นต้องหาพันธุ์จุลินทรีย์จากแหล่งอื่นๆ ที่แข็งแรงมาใส่เพิ่ม เช่น จุลินทรีย์ทางการค้า จุลินทรีย์จากป่า ฯลฯ เพื่อให้จุลินทรีย์เกิดการผสมข้ามสายพันธุ์ เพิ่มจำนวนขยายลูกหลานที่มีสุขภาพแข็งแรงมากขึ้น เพื่อช่วยย่อยสลายซากพืชซากสัตว์ในดิน หลักของการสร้างดินดีมีชีวิตตามธรรมชาติ จึงเป็นการเพิ่มจุลินทรีย์และซากพืชซากสัตว์ลงไปในดินนั่นเอง |
|
|
|
|
|
ไถพรวนดิน หมักวัชพืชหญ้า เตรียมปลูกข้าว |
การทำเกษตรกรรมธรรมชาติแบบเต็มรูปแบบนั้น จะไม่มีการไถพรวนดิน เพราะจะทำให้โครงสร้างและความอุดมสมบูรณ์ของดินเสียไป ที่ไร่พอใจเราได้ยกเว้นข้อนี้ไปบ้าง เพราะจำเป็นต้องไถหมักหญ้าเพื่อให้เป็นปุ๋ยอาหารพืชในดิน และลดจำนวนวัชพืชหญ้าไม่ให้ไปแย่งอาหารข้าวซึ่งเป็นพืชหลัก โดยในขณะไถพรวน เราได้มีการใส่จุลินทรีย์ ปุ๋ยคอกเพิ่ม แล้วทำการหมักทิ้งไว้ 2-3 สัปดาห์ หลังจากนั้นจึงทำการปรับหน้าดินให้เรียบ เพื่อให้พร้อมสำหรับปลูกข้าวในลำดับต่อไป
|
|
|
|
|
|
เตรียมเพาะกล้า สำหรับนาโยน นาดำ ก่อนย้ายลงแปลงปลูก |
|
วิธีการเพาะกล้าอีกแบบหนึ่ง คือการเพาะลงในถาดหลุม ขนาด 434 หลุม โดยการโรยดินและเมล็ดข้าวที่นำไปแช่น้ำและบ่มให้งอกแล้ว ลงในหลุมของถาด 1 ไร่จะใช้ประมาณ 80-100 ถาด นำไปวางเรียงไว้บนแปลงดินที่ดอน คลุมด้วยผ้าสแลนสีดำโปรงแสง 70% รดน้ำเช้าเย็น ประมาณ 3-4 วัน ต้นกล้าจะเริ่มงอกโผ่ทะลุผ้าสแลนขึ้นมา ให้นำผ้าคลุมสแลนออก แล้วรดน้ำเช้าเย็นเหมือนเดิม หลังจากนั้นประมาณ 8-15 วัน ก็สามารถนำต้นกล้าไปปลูกลงในแปลงจริงที่เตรียมไว้ได้ |
|
|
|
|
|
การเพาะกล้าในถาดหลุมไว้ก่อนที่จะลงปลูกจริง ช่วยทำให้ไม่ต้องกังวลเรื่องวัชพืชหญ้า เมื่อทำการถอนต้นกล้าไปโยนหรือดำลงในแปลงจริง 3-4 วัน ต้นกล้าจะยึดรากติดดินเริ่มหาอาหารได้เลย เนื่องจากที่รากมีดินจากถาดหลุมติดอยู่ ระบบรากของต้นกล้าจึงไม่ได้รับการกระทบกระเทือน จึงสามารถปล่อยน้ำเข้าแปลงนาให้ท่วมดิน 4-5 เซนติเมตร เพื่อคลุมไม่ให้เมล็ดหญ้างอกขึ้นมาแย่งอาหารกับข้าวได้ |
|
|
|
|
|
ข้าวนาดำ นาโยน นาหว่าน ต่างกันอย่างไร |
|
การดำนาแบบใหม่ จะต่างจากการดำนาแบบเดิมๆ มาก เมื่อทำการเพาะกล้าในถาดหลุมได้ 10-15 วัน ก็ทำการถอนไปดำในแปลงนาที่เตรียมไว้ พอ 2-3 วันให้ไขน้ำเข้านาสูง 4-5 เซนติเมตร เพื่อป้องกันเมล็ดวัชพืชงอก การดำนาแบบใหม่นี้ กล้าข้าวจะอายุน้อยวันและระบบรากจะไม่ซ้ำ จึงเจริญเติบโตได้เร็ว ดีกว่าการดำแบบเดิม ที่ต้องถอนต้นกล้าอายุประมาณ 30 วันมาตีดินออกและตัดยอดกล้าเพราะต้นจะสูง เมื่อนำไปปลักดำในแปลง จึงทำให้ต้นข้าวชงักไม่เจริญเติบโต |
|
|
|
|
|
ส่วนการทำนาโยน จะทำได้รวดเร็วกว่านาดำ แต่ลักษณะของต้นข้าวที่เริ่มปลูก จะไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย เนื่องจากการโยนต้นกล้าโยนไปแบบสุ่มๆ หลังโยนกล้าข้าวได้ 5-7 วัน จึงเปิดน้ำเข้าแปลงนา เพื่อป้องกันและคุมไม่ให้เมล็ดวัชพืช งอกขึ้นมาแย่งอาหารแข่งกับต้นข้าว |
|
|
|
|
|
การทำนาหว่าน จะเป็นวิธีการปลูกข้าวที่เร็วที่สุด เพียงแต่ต้นข้าวในแปลงที่ได้จะมีจำนวนต้นไม่เป็นระเบียบ และขึ้นติดกับเต็มไปหมด เริ่มจากการเตรียมแปลงนาโดยไถพรวน และปรับหน้าดินให้เรียบ แล้วทำการหว่าเมล็ดข้าวที่แช่น้ำและบ่มจนงอกให้ทั่วแปลงนา อัตราในการหว่าน 10 กิโลกรัมต่อไร่ เสร็จแล้วระบายน้ำในแปลงนาออก เมื่อต้นข้าวงอกได้ 5-10 วัน ให้ไขน้ำเข้าแปลงให้น้ำท่วม เหลือเพียงยอดต้นข้าว เพื่อป้องกันการงอกและเจริญเติบโตของเมล็ดวัชพืช หลังจากนั้นก็ดูแลตามปกติ |
|
|
|
|
|
หญ้าวัชพืชในแปลงนา ปัญหาของชาวนาส่วนใหญ่ แต่ไม่ใช่ที่ไร่พอใจ |
|
การทำนาแบบเกษตรกรรมธรรมชาติ ปัญหาที่ชาวนาทุกคนกังวลและชวนปวดหัว คือเรื่องวัชพืชในแปลงนา เนื่องจากดินในแปลงนามีความอุดมสมบูรณ์ หญ้าวัชพืชจึงขึ้นได้ง่าย ที่ไร่พอใจเราใช้หลายๆ วิธีในการป้องกันและกำจัดเป็นบางครั้ง เริ่มที่การไถพรวนดินในแปลงเริ่มแรก ต้องทำการไถพรวนและหมักหญ้าด้วยน้ำหมักจุลินทรีย์นาน 15-30 วัน จนหญ้าวัชพืชต่างๆ เน่า จึงเริ่มปรับหน้าดินให้เรียบ แล้วทำการดำกล้า โยนกล้า หรือหว่านเมล็ดข้าว หลังจากนั้นปล่อยน้ำเข้าท่วมแปลง เพื่อป้องกันการงอกและการเจริญเติบโตของหญ้าวัชพืช เมื่อต้นข้าวโตได้ประมาณ 1 เดือน หญ้าวัชพืชก็จะถูกเบียดบังไม่สามารถเติบโตได้ แต่หากยังมีหญ้าวัชพืชเหลือหลุดรอดมา วิธีสุดท้ายต้องใช้แรงงานคนลงไปถอนกันอีกครั้ง |
|
|
|
|
|
ข้าวที่มากคุณค่าสารอาหาร ข้าวเป็นยาจากธรรมชาติ |
|
ที่ไร่พอใจเราปล่อยให้ความสมดุลของธรรมชาติ ช่วยดูแลการเพาะปลูกพืชพันธุ์ต่างๆ ธรรมชาตินั่นยิ่งใหญ่เสมอ เราไม่สามารถคาดหวังได้ว่า จะได้สิ่งนั้นสิ่งนี้ ในแต่ละช่วงฤดูกาล สายลม แสงแดด สายฝน สรรพสิ่งมีชีวิต เป็นตัวกำหนดกฏเกณฑ์ให้เป็นไป เราคอยเพียงสดับรับฟังสัญญาณจากธรรมชาติ เพื่อปรับปรุงเปลี่ยนแปลง คอยอนุรักษ์สภาพแวดล้อมรอบด้านให้สมดุล เท่านี้ก็เพียงพอแล้ว ที่ธรรมชาติจะตอบแทนกลับคืนมา แบบประเมินค่าไม่ได้ |
|
|
|
|
|
เมล็ดข้าวทุกเม็ด รวงข้าวทุกรวง ถูกแบ่งปันตั้งแต่อยู่ในทุ่งนา ดูเหมือน นก หนู แมลง มันจะรู้ดีถึงคุณค่าสารอาหารที่อยู่ในเมล็ดข้าว มันคอยวนเวียนแวะมาเยี่ยมเยือนเสมอ ยังไงก็ตามที่ไร่พอใจ ก็ยังคงมีเมล็ดข้าวเหลือเฟือ เหลือที่จะแจกจ่ายญาติมิตร แบ่งปันขายให้กับผู้ที่รักสุขภาพ เท่านี้เราก็พอใจแล้ว สำหรับสิ่งที่ได้จากไร่พอใจ |
|
|
|
|
|
ถึงเวลาเก็บเกี่ยว ข้าวจากทุ่งนาไร่พอใจ เกษตรกรรมธรรมชาติ |
|
สายพันธุ์ข้าวหลักๆ ที่ไร่พอใจนำมาปลูก จะเป็นพันธุ์ข้าวที่ปลูกได้เพียงปีละครั้ง เพื่อให้ได้คุณภาพของสารอาหารในเมล็ดข้าวสูงสุด ข้าวไรซ์เบอรี่ ถึงแม้ว่าจะเป็นข้าวนาปรัง อายุเก็บเกี่ยว 135 วัน แต่จะให้สารอาหารสูง เมื่อปลูกในฤดูหนาวเท่านั้น ข้าวหอมมะลิ 105 ก็เช่นกัน เป็นข้าวไวต่อช่วงแสงหรือข้าวนาปี จะออกรวงเพียงปีละครั้งในดือนพฤศจิกายนของทุกปี ซึ่งเป็นช่วงที่กลางวันสั้นกว่ากลางคืน |
|
|
|
|
|
ข้าวเป็นพืชที่แปลก มีเกสรตัวผู้กับตัวเมียอยู่ในดอกเดียวกัน ทำให้โอกาสที่จะผสมข้ามสายพันธุ์เป็นไปได้ยากมาก มันมักจะเริ่มออกดอกในตอนเช้า พอสายๆ ก็หมดเวลาในการผสมเกสร อาศัยเพียงแมลงและสายลมก็เพียงพอ มันใช้เวลาในการสะสมอาหารในเมล็ดเพียง 30 วันหลังชูช่อดอก เมื่อเมล็ดข้าวเริ่มแก่ ใบข้าวจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอร่ามเต็มทุ่ง แต่ข้าวไรซ์เบอรี่กลับมีสีม่วงดำสลับแปลกๆ แทรกอยู่ในดงข้าว |
|
|
|
|
|
พวกเราภูมิใจทุกครั้งที่ได้ลงมือเกี่ยวข้าวเอง ถึงแม้ผู้คนภายนอกจะมองเห็นเป็นความลำบากตรากตรำ แต่ไม่เลย มันคือความสุขใจ รวงข้าวทุกรวง เมล็ดข้าวทุกเมล็ด ถูกกอบเกี่ยวผ่านมือเราไป มันจะกลายเป็นอาหารชั้นเลิศ อาหารจากธรรมชาติ พร้อมที่จะเสริฟทุกๆ ปี |
|
|
|
|
|
ข้าวที่ปลูกที่ไร่พอใจ เราปลูกด้วยความรัก ปลูกเพื่อเอาไว้กินเองในครอบครัว ปริมาณผลผลิตไม่ใช่เป้าหมายหลัก พื้นที่ 1 ไร่ได้ข้าวเพียง 300 กว่ากิโลกรัมข้าวเปลือก ซึ่งเมื่อสีเป็นข้าวสารจะเหลือเพียง 150 กิโลกรัมเศษๆ (ข้าวหอมมะลิ 105) ในปีหนึ่งๆ ผลผลิตรวมประมาณ 3-4 ตันข้าวสาร แบ่งปันพี่น้องญาติมิตรสหาย ที่เหลือก็ขายพอที่จะเป็นทุนทำนาในครั้งต่อไป เท่านี้เราก็สุขใจที่ไร่พอใจของเราแล้วครับ |
|
|
รวมรูป เกษตรกรรมธรรมชาติ กับวิธีการปลูกข้าวที่ไร่พอใจ |
|
|
|
|
|
|
|
|
|
ความสำคัญของเกษตรอินทรีย์ |
|
|
แนวความคิด ของการทำเกษตรอินทรีย์ แบบยั่งยืน |
|
แล้วคำว่า "เกษตรอินทรีย์" มันคือการเกษตรอะไรกันแน่.... |
|
ความสำคัญเกี่ยวกับ การทำเกษตรที่เป็นเกษตรอินทรีย์ 100 เปอร์เซนต์ |
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|